เพราะงานออกแบบที่ดี คือการคิดเพื่อความต้องการของทุกคน - พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อตีโจทย์ลูกค้าให้ตอบโจทย์ทุกการออกแบบ

8759 VIEWS | 5 MINS READ Tuesday 14 / 07 / 2020


---------------------------------------

 

คุยกับ คุณชา - ณัฐชา รุ่งเจริญลักษณ์
Landscape Architect
พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเพื่อตีโจทย์ลูกค้าให้ตอบโจทย์ทุกการออกแบบ

 

 

ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิตอล เทรนด์ของการดีไซน์ที่ฮิตกันในยุคต่าง ๆ เฉดสีที่น่าสนใจในแต่ละปี หรือแม้กระทั่งโรคระบาดอย่าง ‘COVID-19’ ก็ตาม ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่ต้องนำมาขบคิด และตีโจทย์สำหรับคนที่ทำงานในอาชีพ ‘สถาปนิก’ เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาปนิกที่ทำงานออกแบบสถานที่ที่มีคนหมู่มากใช้งาน อาทิ ห้าง โรงแรม และคอมมูนิตี้ส่วนกลางต่าง ๆ ที่ต้องเจอโจทย์ของสังคมที่เปลี่ยนไปแทบจะทุกนาที วันนี้เรากำลังพูดคุยอยู่กับ Landscape Architect วัย 27 ปี กับผลงานออกแบบ La Habana Huahin คอนโดมิเนียม คุณชา - ณัฐชา รุ่งเจริญลักษณ์

 

 

 

 

จุดเริ่มต้นของการเป็น Landscape Architect

จริงๆ จุดเริ่มต้นก็คงเหมือนเด็กสถาปัตย์ทั่วไป คือชาชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก พอถึงเวลาที่จะต้องเลือกสายวิชา หรือสายอาชีพตอนเข้ามหาลัย ชาก็สนใจทั้งนิเทศและสถาปนิกนะ เรียนไปเรียนมา ก็มาจบที่ Landscape Architect เพราะรู้สึกว่าตัวเองสนใจงานออกแบบ มันเป็นงานที่ Effect กับการใช้ชีวิตของคน ก็เลยเลือกอันนี้ค่ะ

 

 

Landscape Architect คืออะไร?

จริง ๆ ถ้าพูดถึงการออกแบบก่อนละกัน การออกแบบคือการที่เราเข้าไปแก้ปัญหาในจุดต่าง ๆ ให้ผู้อยู่ หรือผู้ใช้งานได้รับประโยชน์และความสะดวกสบาย แต่ถ้าพูดถึงว่า  Landscape Architect แก้ไขอะไรนั้น ชาคิดว่าเป็นการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา “การใช้งานพื้นที่ภายนอกอาคาร และทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้พืชพรรณไม้”

 

ช่วยยกตัวอย่างปัญหาที่ Landscape Architect  เข้าไปแก้ไข

คือปัญหาชีวิตคนมันก็หลากหลาย และแน่นอนว่ามันมีวิธีการแก้ไขปัญหาได้หลากหลายมาก ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมอะไรอย่างนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาของ Landscape Architect ก็คือการแก้ให้พื้นที่มันน่าใช้งานมากขึ้น อยู่แล้วสบายขึ้น คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ใช้ดีขึ้น ไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งการปรับปรุงให้ใช้ชีวิตในพื้นที่นั้นได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่นการเพิ่มที่นั่ง หรือถ้าเชิงเทคนิค เช่นออกแบบการระบายน้ำในพื้นที่ ไม่ให้น้ำท่วม ก็เป็นหนึ่งในนั้น หรือถ้าพูดถึงคอมมูนิตี้ เช่น ห้าง ก็ต้องการ Landscape Architect เข้าไปช่วยออกแบบให้พื้นที่ตรงนั้นสามารถใช้งานได้หลากหลาย จัดคอนเสิร์ตได้ หรือสามารถจัด Event ได้ เราต้องช่วย Owner คิดในหลายๆ ด้าน และถ้าสมมติเป็นพวกรีสอร์ท คอนโด ทำอย่างไร ถึงจะให้ตัวโครงการมีพื้นที่ส่วนกลางที่โดดเด่นน่าใช้งาน และสามารถสู้กับคู่แข่งทางการตลาดได้ จริง ๆ สวนสาธารณะ หรือแม้กระทั่ง ทางเท้าก็ยังเป็นงานของ Landscape Architect  อีกด้วย ที่ต้องทำให้น่าใช้และลงตัวกับฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่มันควรจะมี

 

ได้ข่าวว่าไม่ค่อยอยู่ออฟฟิศ?

ใช่ ๆ (หัวเราะ) ชอบไปดูหน้างานมากกว่าอยู่ในออฟฟิศ คือมันสนุกอ่ะ คือขั้นตอนการทำงานในหัวเราจริง ๆ มันคือการดีไซน์อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว เราคิดอยู่ตลอดเวลาเราออกไปเจออะไร ว่าอันนั้นสวย อันนี้ไม่สวย แล้วจริง ๆ ความสวยงามมันคืออะไร มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเลยนะ ซึ่งการที่เราได้ไปเจอของจริงมันช่วยปรับจูนเราตรงนี้ด้วย และนอกจากสวยแล้ว การที่จะให้สิ่งที่อยู่ในความคิดของเราออกมาให้เป็นจริงนั้นมันยากกว่าทำให้สวยอีกนะ ตอนไปดูหน้างานจริง มันจะเห็นภาพมากขึ้นว่ามันจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างยังไง มันจะเหมือนกับภาพในหัวเราได้แค่ไหน มันมีข้อจำกัดอะไรหรือเปล่า จริงๆ แล้วเบื้องหลังความสวยงามเหล่านั้นมันซ่อนอะไรอยู่มากมายเลย

 

Landscape Architect มีกระบวนการทำงานอย่างไร

จริง ๆ คล้าย ๆ ดีไซน์เนอร์ทั่วไป ก็คือ ศึกษาจากข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับพื้นที่ สถานที่ตั้ง จุดเด่น context surrounding เป็นอย่างไร และที่สำคัญเลยคือ User ใครคือผู้ใช้งานพื้นที่ เราจะต้องรู้ว่าคนที่ใช้งานพื้นที่นี้คือใคร และเขาต้องการอะไร อันนี้คือพื้นฐานที่เราต้องตีโจทย์ อย่างที่สองเป็นความต้องการของเจ้าของพื้นที่ ว่าอยากจะเพิ่มอะไรเข้ามา หรือปัจจัยในอนาคตที่เขาคำนึงถึง เช่น ในอนาคตกลุ่ม User ไหนที่จะเป็นคนเข้ามาใช้พื้นที่นี้แทน ตัวอย่างเช่นตอนนี้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีนมาใช้ แล้วถ้าเราอยากให้นักท่องเที่ยวชาติอื่นเค้าชอบด้วยล่ะเราจะทำอย่างไร หรือว่าจะเป็นข้อเสนอเพิ่มเติมจากฝั่ง Marketing ซึ่งมันอาจจะหลุดตีมไปเลยก็ได้ เช่นเขาขอว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ดูสนุกสนาน และเป็นวัยรุ่น แต่ขอให้ใช้ “สีโรสโกลด์” ในการออกแบบ (หัวเราะ) เราก็กุมขมับอยู่เหมือนกัน เพราะตอนนั้นสีโรสโกลด์กำลังมาแรง หรือบางอันก็ผุดขึ้นมาเลยว่าอยากให้มีสวนผักอยู่กลางน้ำ ซึ่งเราก็ต้องเอาโจทย์เหล่านี้มาคิดและ ‘หาทาง’ ให้การออกแบบมันออกมาลงตัวที่สุด

 

เมื่อ Landscape Architect ต้องทำงานคู่กับ Marketing

จริงๆ การทำงานคู่กับ Marketing มีข้อดีคือเราสามารถรู้ว่าเทรนด์ของตลาดตอนนี้ต้องการอะไร แต่ก็จะทำให้เรามีข้อจำกัดของการออกแบบค่อนข้างเยอะ โดยส่วนใหญ่ก็เจอกันครึ่งทางแหละ เพราะชามองว่าทั้งสองฝั่งเป็นทีมที่มี Creative ทั้งคู่ และมันก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ตัดสินว่าโครงการนึงจะประสบความสำเร็จหรือไม่

 

 

 

ตั้งแต่เป็น Landscape Architect โปรเจคไหนที่รู้สึกภูมิใจที่สุด

จริงๆ มีหลายโปรเจคมาก แต่ที่รู้สึกภูมิใจล่าสุดคงเป็นโปรเจคที่ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ และกำลังจะสร้างเสร็จ ชื่อ โครงการ La Habana Huahin เป็นคอนโดมิเนี่ยม Low Rise กึ่งรีสอร์ท ค่อนข้างต่างจากคอนโดทั่วไป ตรงที่มันมีความเป็นรีสอร์ท มันมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบรรยากาศที่พักผ่อนมาก ๆ ซึ่งทาง Merketing ให้โจทย์มาว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เหมือนที่ ฮาวานา ประเทศคิวบา มันจะเป็นอารมณ์ประมาณผู้หญิงชิคๆ ชอบแต่งตัวสีสันสดใส เขาก็โยนไอเดียนี้มาให้ ชาก็ไปหาข้อมูลต่อว่า ฮาวานา ของคิวบา มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ประเทศเขาเคยผ่านอะไรมาบ้าง องค์ประกอบต่าง ๆ ของบ้านเมืองสมัยนั้นมันมีอะไรที่น่าสนใจ และพรรณไม้อะไรที่ทำให้เรารู้สึกถึงฮาวานาที่คิวบาบ้าง การทำการบ้านตรงนี้ทำให้เราได้ข้อมูลที่น่าจะใส่ลงไปมากมาย ก่อนที่เราจะเอามาลดทอน เพื่อให้เข้ากับสถานที่จริงให้มันลงตัวที่สุด

 

เทรนด์ส่งผลต่อการออกแบบมากเลยใช่ไหม?

จริงๆ เรามองเรื่องของเทรนด์อยู่แล้ว เพราะอย่างเราจะต้องอิงความเป็นปัจจุบันมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันเราต้องคาดการสถานการณ์ของเทรนด์ล่วงหน้าไปด้วยเพราะแต่ละโปรเจคที่เราเริ่มออกแบบ กว่าจะก่อสร้างเสร็จก็อาจจะเอ้าท์เทรนด์ไปแล้ว เราจึงต้องเริ่มจากการดูวิธีการใช้ชีวิตของกลุ่มลูกค้าด้วย เพราะจริง ๆ แต่ละเทรนด์มันจะมีจุดที่ยังเหลื่อมๆ กันอยู่ เนื่องจากมันจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง แม้เราไม่สามารถทำนายได้แน่นอนว่าอนาคตมันจะเปลี่ยนไปทางไหน แต่เราก็จะหารีเสิร์ชมาควบคู่กันไป และดูการปรับตัวของดีไซน์ในโปรดักอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อสังหาฯ ซึ่งมักมาเร็วกว่า มันก็สามารถมาเป็นส่วนช่วยในการคาดการณ์เทรนด์ให้เราได้เช่นกัน

 

แล้ว Covid-19 มีผลกระทบต่องานออกแบบเยอะไหม?

เยอะเลยค่ะ คือหนึ่งเลย จำนวนงานที่ลดลง แต่ถ้าพูดเรื่องของการออกแบบอย่างเดียว ก่อนหน้านี้เรามุ่งเน้นการออกแบบอย่างไรก็ได้ที่ให้คนออกมาใช้งานพื้นที่ให้คุ้มที่สุด และเกิด Interaction ต่อกันของคนภายในพื้นที่ ซึ่งมันจะขัดกับการ Social Distancing ที่ไม่ให้คนมาอยู่รวมกัน ทำให้หลักการใช้งานของพื้นที่มันเสียไป ซึ่งถ้าคิดง่าย ๆ ปกติ 1 คน จะใช้พื้นที่อยู่ที่ 1 ตร.ม. ซึ่งมาตรการการควบคุมโรคเมื่อโควิดแพร่ระบาดทำให้คนเราต้องใช้พื้นที่เพิ่มมากขึ้น และรักษาระยะห่างไว้ให้มากกว่า 1 เมตร คือไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อคน อย่างโปรเจคใหม่ ๆ ที่เข้ามาก็จะมีข้อกำหนดมาเลยว่า ต้องออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้คนมาใช้ร่วมกัน แต่ต้องไม่ทำให้แออัด และสามารถรักษาระยะห่างไว้ได้ด้วย ซึ่งโจทย์แบบนี้เราต้องหาก่อนว่ากลุ่มคนที่มาใช้พื้นที่เขาออกมาใช้พื้นที่เพราะอะไร แล้วเราก็ยังต้องดีไซน์ให้เขายังรู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ไกลกัน ดังนั้นแทนที่เราจะกั้นเป็นผนังสูงแยกไปเลย มันไม่ได้ เราอาจจะต้องลดต่ำลงให้เห็นกัน แต่อย่างคงกั้นระหว่างตัวบุคคลอยู่ ลดการใช้พรรณไม้ที่ดูทึบ หรือส่วนกั้นที่ทึบเพื่อลดความรู้สึกอึดอัดในการใช้พื้นที่ หรือการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องคิดเยอะเพราะยังไงก็ยังต้องทำให้พื้นที่ส่วนกลางดูน่าใช้งานอยู่ดี

 

ต้องตอบโจทย์ทุกคนให้ได้?

มันก็ต้องพยายามแหละ ก็ต้องคุยกับคนเยอะ ๆ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด

 

 

ปรับตัวยังไงในการสื่อสารกับลูกค้า หรือเจ้าของพื้นที่?

จริงๆ ก่อนหน้าโควิดเข้ามา ตลาดคอนโดในไทยค่อนข้างบูมมาก ชาก็เลยได้ทำงานกับคนไทยซะส่วนใหญ่ ซึ่งเวลาเราคุยเราก็พยายามลดศัพท์เทคนิคทางสถาปัตย์ลง แต่ก็พยายาม educate มุมมองทางสถาปัตย์ให้เค้าไปด้วย ซึ่งทำให้คุยงานกันง่ายขึ้น แต่ถ้าหลังจากโควิทมาแล้ว ทางบริษัทเริ่มทำโปรเจคกับทางต่างประเทศค่อนข้างเยอะ ชาก็พบว่าชายังมีปัญหาในเรื่องของภาษาอังกฤษอยู่

 

รู้ว่ามีปัญหาตอนไหน?

ตอนที่ต้องใช้ในการประชุมงาน นำเสนองาน แม้กระทั่งการเขียนอีเมล์ก็ใช้เยอะขึ้น เรียกว่าได้ใช้ตลอด ซึ่งส่วนตัวชาเป็นคนที่ฟังได้ อ่านได้ อย่างรีเสิร์ชเป็นภาษาอังกฤษทำได้สบายเลย แต่ถ้าพูดให้ดูเป็นการพูดที่สุภาพ ดูเป็นทางการ และเหมาะกับสถานการณ์ อันนี้ยังทำไม่ได้ ยังตื่นเต้นทุกครั้งที่ต้องทำ รวมถึงการส่งข้อมูลต่อ หรือการนำเสนอสิ่งที่เราออกแบบมาให้เพื่อนร่วมงานฟังโดยที่ลูกค้าชาวต่างชาติก็ฟังอยู่ด้วย อันนี้เป็นอุปสรรคเหมือนกัน

 

ค้นหาคอร์สที่เหมาะกับคุณ
พร้อมทดสอบวัดระดับฟรี


   หรือ    โทรเลย 02-026-6683