หลักการหาคอนเน็คชั่นทางธุรกิจ “ที่ใครๆก็ทำได้”

6245 VIEWS | 5 MINS READ Saturday 16 / 05 / 2020


ความก้าวหน้าของอาชีพนั้นเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ต้องการ และในปัจจุบันนี้เราอยู่ในโลกที่ “ผลงาน” อย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้ครบ ฉะนั้น “โอกาส” หรือ “ศักยภาพ” กลายเป็นคำที่ใช่กว่า ในการเลือกใครคนหนึ่งขึ้นมาเป็น “ตัวจริง” ในสายงานขององค์กร

“โอกาส” หรือ “ศักยภาพ” ในอนาคต ไม่ได้เกิดขึ้นจากการนั่งรอของเรา แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการขวนขวาย หาช่องทางที่ดีกว่า หาพาร์ทเนอร์ที่ดีกว่า ได้ข้อมูลที่เร็วกว่า หรือได้ทุนที่มากกว่า ฉะนั้น “การหาคอนเนคชั่นทางธุรกิจ” จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับคุณ ...แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงคอนเนคชั่นที่ดีได้เท่า ๆ กัน

วันนี้เราจึงมาแนะนำ “หลักการหาคอนเน็คชั่นทางธุรกิจ” ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำได้

หลักการที่หนึ่ง จงมีตัวตนที่สวยงามบนโลกโซเชียล

ข้อแรกนี้ เราไม่ได้จะให้คุณจ้างตากล้องมาถ่ายรูปสวย ๆ เพื่ออัพโหลดลงเฟสบุ๊ค (แม้ว่าเราจะสนับสนุนให้คุณเลือกรูปที่ดูดี และสุภาพ ตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ก็ตาม) ตัวตนที่ว่านี้หมายถึงการที่คุณนำเสนอทักษะ หรือถ่ายทอดความสำเร็จของตัวเองออกมาให้คนอื่นสามารถเข้าถึงได้ เช่น การบอกเล่าสกิลเซ็ตที่คุณมีลงในเว็บไซต์คอนเนคชั่นอย่าง LinkedIn, การเขียนบทความแสดงทัศนะของคุณต่อเคสธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสายงานของคุณใน blog ส่วนตัว หรือการเข้าร่วมเพจ - กลุ่ม ที่ได้ความรู้ในการพัฒนาตนเอง

สิ่งเหล่านี้คือ “รอยเท้าเล็กๆ” ในโลกอินเตอร์เน็ต ที่ผู้คนสามารถเข้ามาทำความรู้จักคุณได้ และถ้าหาคุณพบใครในชีวิตจริง คุณก็สามารถให้ช่องทางการติดต่อที่ “พร้อมโชว์” ให้กับเขาได้ทันที ไม่ใช่เขาเอาชื่อคุณไปเซิร์จหาแล้วเจอแต่ความว่างเปล่า

ก่อนที่จะใครจะให้ความสำคัญกับคุณ คุณต้อง “มีของ” ก่อน

 

หลักการที่สอง เลือกเล่นในระดับที่สูงกว่าคุณ

การหาคอนเนคชั่น ถ้าคุณได้คนที่ทำงานในระดับเดียวกันก็อาจจะช่วยงานของคุณได้บ้างเล็กน้อย แต่ถ้าคุณเลือกที่จะสานสัมพันธ์กับคนที่ทำงานในระดับสูงกว่าคุณ มันจะช่วยเปิดโอกาสความเป็นไปได้อีกมากมายที่คุณสามารถทำได้นอกเหนือจากสโคปงานของคุณ

หลักการที่สาม ทำการบ้านก่อนเจอตัวจริง

หากคุณกำลังจะนัดคุยงานกับใคร ขอให้ทำความรู้จักเขาอย่างคร่าว ๆ ก่อน ลองเริ่มจากดู LinkedIn ของเขาเพื่อที่เราจะได้ทำความเข้าใจงานของเขาว่าเกี่ยวข้องกับงานของเราอย่างไร ซึ่งมันจะช่วยให้คุณสามารถคิดทางเลือกในการนำเสนอตัวเองออกไปได้หลาย ๆ แบบ การที่มีคนมาแนะนำตัวโดยพูดแต่สิ่งที่คุณไม่ได้สนใจเลยนั้นน่าเบื่อ และคงไม่มีใครอยากจดจำคนแบบนั้น ในทางกลับกัน ถ้าคุณเตรียมพร้อมมาดีพอ เชื่อมโยงงานของคุณเข้ากับงานของเขาได้ เขาอาจมองคุณและพูดว่า “เรากำลังหาโซลูชั่นสำหรับปัญหานี้อยู่พอดี!” ก็ได้นะ


หลักการที่สี่ สนใจตัวบุคคลก่อน

ถ้าคุณเดินเข้าไปพูดคุยกับใครแล้วเปิดด้วยคำถามว่า “ไม่ทราบว่าคุณทำตำแหน่งอะไร” มันคงจะดูไม่ค่อยมีมารยาทสักเท่าไหร่ การสนทนาเริ่มต้นคุณควรจะสนใจตัวตนของคนที่อยู่ตรงหน้าก่อน เช่นการถามคำถามที่เกี่ยวกับการมางานสัมมนาครั้งนี้ หรือถามว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ หรือชวนคุยเกี่ยวกับธุรกิจของเขาว่าเขากำลังอยากปรับธุรกิจไปทางไหนในปีหน้า คุณจะได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นและช่วยให้คุณเข้าใจว่าเขากำลังสนใจอะไรอยู่กันแน่ และนั่นคือการสร้างคอนเนคชั่นจริง ๆ ไม่ใช่แค่การเข้าไปทำความรู้จักและตอบได้ว่าเขาทำงานตำแหน่งอะไรอยู่ที่ไหน

 

หลักการที่ห้า อย่าลังเลที่จะบอกความสนใจของคุณไปตรงๆ

ถ้าคุณคุยกับใครแล้วเกิดไอเดียขึ้นมา อย่าลังเลที่จะลองบอกออกไป แต่ถ้าคุณไม่เห็นทางที่จะทำอะไรด้วยกันได้ ก็อย่าทำให้เขาเสียเวลา การหาคอนเนคชั่นในงานสัมมนาธุรกิจนั้นทุกคนไม่ได้มาเพื่อหาเพื่อน ทุกคนที่มานั้นมีเป้าหมายหรือคำถามบางอย่างที่ต้องหาคำตอบ หรือหาทางเลือกเพื่อกลับไปเสนอบริษัท ดังนั้นถ้าคุณไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้ ขอให้ขอตัวอย่างสุภาพ และลองมองหาคนอื่นแทน

 

หลักการที่หก ออกตัวช่วยเหลือคนอื่นก่อน

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร การเป็นผู้ให้นั้นมีเสน่ห์เสมอ

ถ้าคุณเป็นเจ้าของกิจการ คุณอาจพูดว่า “ผมเข้าใจปัญหาที่คุณเจออยู่ตอนนี้ เอาอย่างนี้ไหม ผมให้คุณได้ลองใช้บริการซอฟท์แวร์ใหม่ที่กำลังพัฒนานี้สัก 1 เดือนก่อน บางทีมันอาจช่วยคุณได้ ผมขอค่าตอบแทนเป็นความคิดเห็นของคุณหลังจากใช้งานแล้วก็พอ”

ถ้าคุณกำลังหางาน “ช่วงที่ปิดงบพวกคุณคงยุ่ง ถ้าคุณต้องการใครให้ช่วยดูเรื่องโครงการ CSR พวกนั้น ฉันยินดีช่วยนะ”

 

วิธีการนี้ก็เหมือนกับการทดลองงานของคุณ บางทีเขาอาจยังไม่รู้จะทำอะไรร่วมกับคุณเลย แต่เมื่อได้เข้าใจสิ่งที่คุณนำเสนอมากขึ้นเขาอาจเปลี่ยนใจและคิดอะไรดี ๆ ออกก็ได้นะ

 

หลักการที่เจ็ด ใช้กฎ 48 ชั่วโมง

หลังจากที่คุณได้ทำความรู้จัก จับมือทักทาย และบอกลากันไปแล้ว ถ้าคุณอยากให้เข้าทราบว่าคุณสนใจจริง ๆ คุณก็ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปนาน คุณควรติดต่อกลับไปเพื่อแสดงความสนใจภายใน 48 ชั่วโมง อาจเป็นการโทรไปพูดคุยสั้น ๆ เช่น “ฉันยินดีมากที่เราได้คุยกันในงานสัมมนาเมื่อวันก่อน ธุรกิจที่คุณทำนั้นน่าสนใจจริง ๆ และถ้าคุณมีเวลา ฉันอยากให้คุณมาเยี่ยมชมออฟฟิศของเราสักหน่อย ฉันจะได้เล่าโปรเจ็คนี้ให้คุณฟังอย่างละเอียด” เท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว แต่ถ้าคุณได้พบกันวันศุกร์ คุณอาจส่งข้อความหรืออีเมลไปในบ่ายวันอาทิตย์ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม มันจะเป็นการดีที่สุดที่คุณจะสื่อสารโดยการโทรหาหรือการไปพบกันจริง ๆ การทิ้งเวลาไว้นานเกินไปนั้นทำให้ความตื่นเต้นในการจะทำอะไรร่วมกันนั้นลดลง และเป็นอีก 1 สาเหตุที่ดีลล่ม

สุดท้ายแล้ว หลักการเหล่านี้ก็เป็นเพียงตัวช่วยในการสร้างคอนเนคชั่นธุรกิจของคุณ แต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ คือคุณค่าของสิ่งที่คุณสามารถช่วยคนอื่นได้ต่างหาก ฉะนั้นนอกจากเทคนิคเหล่านี้แล้วคุณเองก็ควรพัฒนาตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ เสมอ และต้องกล้าที่จะลงมือเมื่อโอกาสมาถึงด้วยเช่นกัน

ค้นหาคอร์สที่เหมาะกับคุณ
พร้อมทดสอบวัดระดับฟรี


   หรือ    โทรเลย 02-026-6683

บทความที่แนะนำ


วัยทำงาน

30 ความท้าทาย ทลายกรอบ! สู่ความสำเร็จในการทำงาน

Tips and Tricks

10 TIPS พรีเซ็นต์งาน"ภาษาอังกฤษ"สไตล์ Steve Jobs

วัยทำงาน

10 หัวข้อง่ายๆ สำหรับเริ่มต้นพูดคุยกับเจ้านายฝรั่ง ลูกค้า และเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติ